อาจารย์ดำรง สุวรรณกาญจน์ ครูแห่งชาติจากโรงเรียนยะหาศิรยานุกูล ยะลา ให้ความหมายของการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญไว้ดี ท่านกล่าวว่า เดิมเรามุ่งสอนเด็กโดยการเน้นการท่องจำตามตำรา เด็กจึงไม่ได้เรียนรู้อย่างแท้จริง มองข้ามความสามารถของเด็กไป การเรียนการสอนแนวใหม่นี้ส่งผลให้เด็กเรียนรู้จากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น การจัดการเรียนการสอนต้องทำให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็กแต่ละคน อาจารย์ดำรงสอนวิทยาศาสตร์โดยนำเอาตัวอย่างของจริงที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันมาอิงกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ในตำราเรียน แล้วให้เขา ออกแบบการทดลองและปฏิบัติจริง ในการสอนจะเน้นให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น ใช้จินตนาการของตนให้มาก อาจารย์ดำรงเชื่อว่าความสามารถของเด็กไทยไม่ได้แพ้เด็กต่างชาติเลย เพียงแต่เราสอนเด็กโดยเน้นทฤษฎีมากเกินไป ทำให้นักเรียนขาดทักษะในการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์
ผมคิดว่าถ้าครูจะจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญให้ได้ผลสูงสุด ครูคงจะต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อ ความคิดและวิธีปฏิบัติบางประการ จากความคิดเดิมเป็นความคิดใหม่
ประการที่ 1 : ความคิดเดิม ครูมองความสำเร็จของการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ มุ่งไปที่การดูว่าครูมีวิธีสอนที่ทำให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายเน้นการคิดเอง ปฏิบัติเอง ของเด็ก
ความคิดใหม่ ความสำเร็จของการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ที่ผลลัพธ์ของผู้ เรียนถ้า ผู้เรียนรายบุคคลทุกคนมีผลการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามมาตรฐานความมุ่ง หมายของหลักสูตรแม้ผู้เรียนจะมีความแตกต่างกันในพื้นฐานความสามารถและความ สนใจ แต่ครูมีฝีมือทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุผลการเรียนรู้ที่พึงปรารถนาได้ ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์เช่นนี้จะต้องเกิดจากฝีมือในการจัดกระบวนการเรียนการ สอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญนั่นเอง
ประการที่ 2 : ความคิดเดิม เชื่อว่าผู้เรียนมีความสามารถต่างกันจึงมีผลการเรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน เข้าทำนองคนเก่งเท่านั้นจึงเรียนดี คนอ่อนเรียนไม่ดี ความคิดใหม่ ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ ได้เท่ากันถ้าครูจัดวิธีการเรียนให้เหมาะกับความสามารถของเขา ข้อสำคัญสิ่งที่กำหนดในหลักสูตรแต่ละวิชาล้วนเป็นมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่ นักพัฒนาหลักสูตรมุ่งให้บังเกิดกับผู้เรียนทุกคนไม่เคย มีข้อยกเว้นว่า หลักสูตรที่เขียนนั้นเด็กบางคนที่เก่งเรียนได้ เด็กที่ไม่เก่งเรียนไม่ได้
ประการที่ 3 : ความคิดเดิม ผู้เรียนเรียนรู้จากการอ่าน การฟัง การฝึก และการจดจำ ความคิดใหม่ ผู้เรียนเรียนรู้จากการได้รับประสบการณ์จากแหล่งต่าง ๆ เช่น ได้จากการสังเกต รับรู้ข้อมูล จากกระบวนการคิดกำหนดเป้าหมายความรู้ความสามารถ ที่มีแรงจูงใจอยากได้ อยากรู้ อยากเห็น แล้ววางแผนแสวงหาคำตอบจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ จากการค้นคว้า จากการทดลองปฏิบัติ จากการสอบถามผู้รู้ จากการวิเคราะห์สิ่งที่รับรู้ จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อน รับข้อมูลสะท้อนยืนยันความถูกต้องจากครู จนสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเอง
ประการที่ 4 : ความคิดเดิม ผลการเรียน คือ ความรู้ที่แสดงออกด้วยการจดจำความจริง กฎ เกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นเนื้อหา ความคิดใหม่ ผลการเรียน คือความสมดุลของความรู้ ความคิด ความสามารถในการวิเคราะห์สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้ความรู้ ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีเครื่องมือวิธีการหาความรู้ปรับเปลี่ยนได้ด้วยตนเองรวมถึงการมีเจตคติ ค่านิยม ความเชื่อที่เหมาะสม
ประการที่ 5 : ความคิดเดิม ครูมีกระบวนการสอนที่เป็นมาตรฐานตายตัวใช้กับผู้เรียนทุกคน เช่น มีขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นให้ความคิดรวบยอดหลักการ ขั้นขยายความรู้ ขั้นฝึกปฏิบัติ ขั้นสรุป
ความคิดใหม่ ครูรู้จักจุดเด่นจุดอ่อนของผู้เรียนรายบุคคลจากการประเมินก่อนสอน ครูออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ให้เหมาะกับจุดเด่นจุดอ่อน ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นหลากหลาย เพราะสิ่งที่เรียนยากนั้นถ้าผ่านทางกระบวนการเรียนรู้จากของจริง ปฏิบัติจริงเป็นขั้นตอนจากง่ายไปหายาก ผู้เรียนจะเรียนได้สะดวกขึ้น มีการจัดกลุ่มผู้เรียนที่สอดคล้องกับความสามารถ ปรับเวลาให้ยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนช้า ผ่านเครื่องมือช่วยการเรียนรู้ เช่น สื่อการเรียนด้วยตนเองและเทคโนโลยีช่วยเรียนที่หลากหลาย จะสนองผู้เรียนที่แตกต่างกันได้ดี ไม่เกิดปรากฏการณ์ที่สอนให้เด็กปานกลางเรียนได้ เด็กเก่งแต่เบื่อหน่าย และเด็กอ่อนเรียนไม่ได้เลย
ประการที่ 6 : ความคิดเดิม ปล่อยให้เด็กทำกิจกรรมเรียนรู้ตามลำพัง ครูอำนวยความสะดวกจัดสื่อจัดแหล่งการเรียนรู้
ความคิดใหม่ ครูทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ช (Coach) ให้คำแนะนำใกล้ชิด ร่วมวางแผนโดยยึดมาตรฐานการเรียนรู้ที่ควรได้รับ แนะนำให้เด็กเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งของตน ให้เรียนรู้ด้วยวิธีที่เด็กถนัด คอยติดตามผลการทำกิจกรรม ให้ความเห็นป้อนกลับ (Feedback) ให้เด็กมั่นใจในผลลัพธ์ที่ถูกต้อง ให้ปรับปรุงในสิ่งที่ยังด้อย เสริมความรู้ให้ครบตามมาตรฐาน ให้คำปรึกษาเมื่อเด็กพบปัญหาอุปสรรค และกระตุ้นให้กำลังใจในความเพียรพยายามให้กล้าคิดกล้าลองแสวงหาความรู้ที่เขาสนใจ
ประการที่ 7 : ความคิดเดิม การวัดผลประเมินผลมีจุดอ่อนในการยึดเพียงเนื้อหาตามตำรา มีจุดอ่อนที่ใช้เครื่องมือวัดผลที่จำกัดความคิดของเด็ก เช่น ใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบที่วัดความรู้ความจำผิวเผิน มีจุดอ่อนที่วัดผลประเมินผลน้อยครั้ง วัดและประเมินเพียงเพื่อตัดสินผลการเรียนความคิดใหม่ เน้นการติดตามผลการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคลตลอดเวลาเพื่อระบุสิ่งที่ยัง บกพร่องแล้วช่วยให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ได้ผลการเรียนรู้ครบถ้วน วัดครอบคลุมความรู้ความสามารถตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่ดี ใช้วิธีการวัดการประเมินหลายอย่างทั้งการประเมินจาก พฤติกรรมการปฏิบัติ ประเมินจากผลงาน ประเมินจากการใช้ข้อสอบที่เน้นการเขียนตอบแสดงความคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างกว้างขวาง ใช้ผลการวัดการประเมินเพื่อการพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ ครบถ้วนตามมาตรฐาน
บทสรุป
หัวใจสำคัญของความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ที่ความเป็นครูมืออาชีพที่มุ่งมั่นคิดค้น แสวงหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีความสำเร็จในการเรียนรู้เต็มศักยภาพ ครบถ้วนตามมาตรฐาน โดยใช้พื้นฐานความรักความเมตตาที่ครูมีต่อผู้เรียนทุกคนอย่างแท้จริง
ที่มาของข้อมูล : ดร.สงบ ลักษณะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น